การนวดเพื่อบำบัดรักษาโรค
การนวดเพื่อการรักษา/ฟื้นฟูสมรรถภาพ
หัตถเวชกรรม หรือ การนวด หมายความว่า การตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก การนวดเพื่อบำบัดโรค หรือ นวดรักษา เป็นการกดจุดสำคัญบนร่างกายเกี่ยวโยงกับอาการปวด โดยใช้หลักการกดจุดกระจายลมที่ค้างในเส้นให้เคลื่อนต่อไปได้ อย่างปกติ ซึ่งแต่ละอาการปวด แต่ละตำแหน่ง ก็จะกดจุดรักษาต่างกันไป การนวดรักษาโรคดังต่อไปนี้ เช่น กลุ่มโรคลมปลายปัตคาด (อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง) ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดแขน ปวดขา ไมเกรน อาการชาปลายมือ-ปลายเท้า หัวไหล่ติดเรื้อรัง โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต
ตัวอย่าง : กลุ่มโรคลมปลายปัตคาต (โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง) คอ บ่า ไหล่ หลัง
โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Office Syndrome)
เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจาการการนั่งทำงานหรืออยู่ในอิริยาบทเดิมเป็นเวลานาน มักจะมีอาการปวดและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มีอาการชาตามปลายนิ้วมือ ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจแค่รู้สึก ปวดเมื่อยเฉพาะจุดและสามารถหายได้เองถ้าหากพักการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น แต่ถ้าเกิดเป็นซ้ำๆ เรียกว่า Overuse injury เมื่อตรวจร่างกายพบกล้ามเนื้อแข็งเป็นลำ(taut band) และพบจุดเจ็บ(trigger point) ซึ่งเมื่อกดไปแล้วคนไข้จะอาการปวดร้าวไปยังบริเวณอื่นที่เป็นกล้ามเนื้อมัดเดียวกัน
ในทางการแพทย์แผนไทย
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมในทางเวชกรรมแผนไทยได้วินิจฉัยว่าเกิดจากการขาดสมดุลในการทำงานของธาตุในร่างกายทั้ง 4 ธาตุ โดยธาตุในร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากอาการออฟฟิศซินโดรม มีดังนี้
ธาตุดิน ได้แก่ มังสัง(กล้ามเนื้อ) และ นหารู(เส้นเอ็น)
ธาตุน้ำ ได้แก่ โลหิตตัง(เลือด)
ธาตุลม ได้แก่
อุธังคมาวาตา (ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องสูง)
อโธคมาวาตา (ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง)
อังคมังคานุสารีวาตา (ลมพัดทั่วร่างกาย)
ธาตุไฟ ได้แก่ สันตัปปัคคี(ไฟอุ่นกาย)
กล่าวคือ ธาตุดินในร่างกายเริ่มเกิดการแข็งตัว ขวางการเคลื่อนของธาตุน้ำและธาตุลม ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก ส่งผลกระทบไปยังธาตุไฟในบริเวณดังกล่าว ทำให้บริเวณนั้นอุณหภูมิสูงขึ้น จึงเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ